วิศิษฐ์ วังวิญญู

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

คนอื่นเขียนถึง บทความโดย อาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์

ดุลยภาพของการเรียนรู้

เมื่อเดือนกรกฎาคม สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้สนทนากันท่ามกลางสวนสวยและอากาศฤดูฝนที่ฉ่ำชื่น ผู้จุดประเด็นการสนทนาในวันนั้นคือ ครูวิศิษฐ์ วังวิญญู สาระที่นำเสนอคือการเขียนโลกใบใหม่ของการเรียนรู้

วิศิษฐ์พูดและใช้ภาษาเขียนที่อลังการมาก เกือบทุกข้อความ เขาใช้คำธรรมดาๆ แต่มีความหมายลึกซึ้ง สมาชิกกลุ่มต้องตั้งใจแน่วแน่ ฟัง อ่าน อย่างพินิจเจาะลึก กลั่นกรองเพื่อเข้าถึงสาระที่เขาสื่อออกมา ผู้ที่สนใจอาจสืบค้นจากแหล่งข้อมูลของกิจกรรมจิตวิวัฒน์ที่ให้ไว้ท้ายบทความนี้

ประเด็นที่ขอหยิบยกมาพิจารณาซ้ำ คือสาระเชิงปรัชญาที่เป็นฐานของการเรียนรู้ วิศิษฐ์ วังวิญญู เน้นว่า
การเรียนรู้ที่แท้นั้นเกิดจากสภาวะของจิตที่โปร่งสบาย ผ่อนคลาย แล้วคิดวิเคราะห์เข้าภายในตน ขณะเดียวกันก็ได้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงกับผู้อื่น การยึดติดกับเนื้อหาสาระที่ตายตัวนั้น แม้จะรู้มากก็มีประโยชน์น้อยกว่าการรู้สาระที่เปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงกับชีวิตเรา

ความสำคัญของการเรียนรู้อยู่ที่จุดหมายและกระบวนการ ประสบการณ์จากการเรียนรู้จะทับซ้อนสะสม มีทั้งความรู้ที่ข้ามพ้นไปสู่สิ่งใหม่ หลอมรวมกับประสบการณ์เดิมเป็นการ "ก้าวพ้นแต่ปนอยู่" (transcend and include) นั่นคือ กระบวนการเรียนรู้นั้นมีโครงสร้างแบบเกลียวพลวัต (spiral dynamics) มีธาตุรู้ที่สามารถเชื่อมโยงจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก จนเกิดปัญญาและความรู้ใหม่

ถ้าการฟังและการตกผลึกทางความคิดของผู้เขียนมีความถูกต้องตามที่ วิศิษฐ์ วังวิญญู นำเสนอ การเรียนรู้ดังกล่าวก็เป็นการเชื่อมโยงโลกภายนอกตัวเรากับโลกภายในเข้าด้วยกัน โดยเน้นการเพ่งลึกลงสู่จิตและยกระดับของจิตให้เกิดความตื่นรู้และอิสรภาพทางปัญญา

กระบวนการเรียนรู้ที่ฝึกเชื่อมโยงจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกเช่นนี้ นำไปสู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณอย่างไม่มีข้อสงสัย อีกทั้งยังโยงใยไปถึงสุขภาวะองค์รวมของชีวิต แม้กระนั้นแนวคิดนี้ก็เหมือนเรือน้อยลอยกลางกระแสธารการศึกษาที่ไหลเชี่ยวและมีแก่งหินระเกะระกะอยู่ตลอดทาง

ปัจจุบัน การเรียนการสอนยังคงเน้นวิธีกระตุ้นให้เร่งรีบ แข่งขันอย่างเคร่งเครียด บันไดแห่งความสำเร็จทางการศึกษายังสูงชัน มองเห็นนักเรียนพยายามปีนป่ายอย่างสุดแรง

แม้จะมีการปฏิรูปการศึกษามานานแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและกิจกรรมการเรียนรู้กันขนานใหญ่ที่ปรากฏผลอยู่บ้าง
แต่ที่ยังเปลี่ยนไม่ได้ คือ การเน้นเนื้อหาทั้งที่เป็น text และ content ซึ่งผู้เรียนต้องยึดถืออย่างแน่วแน่ กอบโกย เกรงกลัว และจะละเมิด "บท" ที่กำหนดไว้มิได้

ความรู้ได้ถูกแบ่งแยกไว้เป็นอาณาจักรของศาสตร์แต่ละสาขา พรมแดนที่มองไม่เห็น ได้ตีกรอบไว้ว่าเป็นส่วนของวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ฯลฯ เป็นขอบเขตที่โอบล้อมกักขังความคิดและชีวิตของแต่ละคนไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ในทางขวางนั้นเล่า การเรียนรู้ยังตัดแบ่งเป็นวัยและช่วงชั้น ตำราวิชาครูบางเล่มยังบอกว่า เด็กไม่สามารถรู้และคิดได้อย่างผู้ใหญ่ เนื้อหาสาระที่เรียนจึงต้องลำดับความยาก-ง่าย จำนวนน้อย-มาก เรียนก่อน-หลัง จากหลักการเช่นนี้ เด็กเล็กจึงยังไม่ควรเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมายาวนาน (เพราะเด็กยังย้อนอดีตไม่เป็น?) ทั้งๆ ที่นักเรียนอนุบาลสามารถอ่านสมุดภาพโลกดึกดำบรรพ์และรู้จักไดโนเสาร์พันธุ์ต่างๆ ดีกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ

กระบวนการเรียนรู้ที่แข็งขึงตึงตัวจึงเกิดการเรียนรู้ที่ผิวเผิน ความรู้จากภายนอกก็รู้ไม่แจ้งชัด จึงก้าวไม่ถึงความรู้ฝังลึกที่ผู้เรียนสามารถคิด พินิจ กลั่นกรอง สะสม แล้วนำมาใช้ประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมได้จริง

มองอีกแง่มุมหนึ่ง การเรียนรู้ที่รวบรวมความรู้ภายนอกตัวเราและนอกสังคมของเรา เป็นการหลงทางเช่นนั้นหรือ ผู้เขียนเชื่อว่า เนื้อหาความรู้ หลักและวิธีการของศาสตร์ต่างๆ ยังมีความจำเป็นที่สร้างฐานการพัฒนาความคิดและความสามารถของบุคคล ตำราเนื้อหาสาระที่ วิศิษฐ์ วังวิญญู ใช้คำแทนว่า "บท" นั้นเป็นต้นทุนที่ต้องสืบค้นและเพิ่มค่าด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ จนรู้แจ้งชัดเจน ดังที่วิศิษฐ์ ใช้ประเมินว่า "ตีบทแตก"

การแสวงหาความรู้ยังแยกเป็น 2 กระบวนการ คือ เรียนเพื่อความรู้รอบ (general knowledge) กับการเรียนมุ่งรู้ดิ่งเดี่ยว (technical knowledge)

ความรู้รอบเกิดจากการเชื่อมโยงและหลอมรวมสาระของศาสตร์ต่างๆ อย่างกลมกลืนได้สัดส่วนสมดุลกัน นำไปใช้ประโยชน์ได้

ความรู้ดิ่งเดี่ยวมุ่งไปสู่การฝึกหัดฝึกฝนจนเชี่ยวชาญในหลักทฤษฎีและเทคนิคเฉพาะที่จำเป็นต่อวิชาชีพ

หรืออีกนัยหนึ่ง
ความรู้ดิ่งเดี่ยวอาจมุ่งวิเคราะห์ตนเองอย่างลึกซึ้ง จากรูปกายภายนอกลงสู่การทำงานของจิตภายในตน จนเห็นแจ้งในระบบความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตที่ละเอียดซับซ้อน เข้าใจความจริงของชีวิตและอิ่มเอมในอารมณ์ สภาวะเช่นนี้เป็นจุดหมายการเรียนรู้ของปัจเจกบุคคล

มนุษย์ต้องเรียนให้รู้รอบและรู้ดิ่งเดี่ยวในด้านใดด้านหนึ่งตามสัดส่วนที่เหมาะกับแต่ละชีวิต

ต้องเรียนรู้ภายในตน จิตสำนึกของตน และฝึกหัดขัดเกลาตนเองอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สังคม เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเกิดผลกระทบต่อทุกคนในโลกกว้าง

ตามนัยแห่งพุทธธรรม การพัฒนามนุษย์จึงเน้นความสมดุลทั้งวิถีทางโลกและวิถีทางธรรม กระบวนการเรียนรู้มีลักษณะก้าวเวียน (spiral) และยืดหยุ่นตามเหตุปัจจัยของชีวิต

กระบวนการเรียนรู้ที่สมดุลจึงเกิดผลที่งอกงามสูงขึ้น และพร้อมกันนั้นก็หยั่งรากลึกลงสู่ภายใน เปรียบดังต้นไม้ใหญ่ที่สูงตระหง่านเพียงใด ก็ย่อมหยั่งรากลึกลงเพื่อยืนต้นอยู่ได้อย่างมั่นคง

ดุลยภาพของการเรียนรู้ จึงนำสู่ความเจริญไพบูลย์ดังนี้


สุมน อมรวิวัฒน์


แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์


สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) NewConsciousness@thainhf.org 

คนอื่นเขียนถึง บทความโดย รมณ รวยแสน

บทความในความงดงามของชีวิต วิศิษฐ์ วังวิญญู

ความเรียง ถอดความหมายในแต่ละการเรียนรู้ ของวิศิษฐ์ วังวิญญู เมื่ออธิบายผ่านอาจารย์ผู้สอนสั่งทางจิตวิญญาณ ที่มองผ่าน ติช นัท ฮันห์

รหัสชีวิต

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซกชั่น กายใจ

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2550 


รมณ รวยแสน

ผู้เขียน 


ผู้นำคือผู้รับใช้

 

ชื่อของ วิศิษฐ์ วังวิญญู นักเขียน นักแปลหนังสือหลายเล่ม เล่มหนึ่งที่เขาแปลคือ 'ดวงตะวันดวงใจฉัน' เขียนโดย ติช นัท ฮันห์ หรือหนังสือที่เขาเขียนเองอย่าง ญาณทัศนะแห่งการเข้าถึงตัวตนที่แท้จริง 'มณฑลแห่งพลัง'

  

ในหนังสือ "มณฑลแห่งพลัง" ของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา มีคำนำที่เขียนถึงวิศิษฐ์ไว้ว่า "คุณวิศิษฐ์เป็นปัญญาชน นักคิด และกระบวนกร (วิทยากรที่เน้นกระบวนการกลุ่ม) ที่นำเสนอความคิดอ่านใหม่ๆ สู่สังคมไทยเสมอ อาทิ วิทยาศาสตร์ใหม่ แนวคิดเรื่องฟิสิกส์และจิตวิญญาณ ในด้านการศึกษาทางปรัชญาแนวคิด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนแนวพุทธศาสตร์ แนววอดอร์ฟ แนวมองเตสเซอรี่ แนวซัมเมอร์ฮิล ฯลฯ"

 

มณฑลแห่งพลัง เป็นหนังสือที่วิศิษฐ์เขียนจากประสบการณ์หลากหลายของเขาในการจัดเวิร์คชอปและการสนทนาวิสาสะที่เกิดจากการฟังอย่างลึกซึ้ง (dialogue)

 

กิจกรรมเวิร์คชอปว่าด้วยมณฑลแห่งพลัง เขาได้เรียนรู้การก้าวข้ามของชีวิตผู้คนธรรมดาที่มีพลังอันกระจัดกระจายมาสู่ชีวิตที่ตื่นตัวทั่วพร้อมด้วยพละกำลังอันยั่งยืน

 ก่อนหน้านั้นวิศิษฐ์ใช้ชีวิตเพื่อการเรียนรู้และแสวงหา และใช้เวลาร่วม 10 ปีทำธุรกิจหลายอย่าง ไม่ว่าคอมพิวเตอร์หรืออสังหาริมทรัพย์ เขาเรียกชีวิตช่วงนั้นของตัวเองว่า เข้าไปอยู่ใต้ท้องปลาวาฬ (ฝรั่งเปรียบเป็นความชั่วร้าย) ทั้งหมดไปได้ไม่สวยนัก แต่ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้มาก


ปัจจุบันวิศิษฐ์ใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงรายเป็นเวลา 8 ปีแล้ว เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งเพื่อเรียนรู้และแสวงหา ก่อนจะหักเหเข้าสู่การทำธุรกิจ แต่งงานครั้งที่สอง และเลี้ยงดูบุตรชาย 1 คน

หลังจากภรรยาคนแรกเสียชีวิต เขาตัดสินใจที่จะไม่ใช้ชีวิตที่เหลือในวงจรธุรกิจต่อไป ค่อยๆ ตัดความทะยานอยาก แล้วกลับมาใช้ชีวิตอีกอย่างตามแบบที่เขาบอกว่า ไม่ถึงกับจน

"จะไปทำงานเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจต่อก็ได้ แต่ผมเบื่อแล้ว ถ้าประสบความสำเร็จแล้วเพื่ออะไร ตอนนี้ผมอายุ 52 ปี ก่อนจะทำธุรกิจผมอยู่กับชีวิตเรียนรู้แสวงหามานานกว่า 30 ปี ทำธุรกิจตอนอายุ 33 ปี แต่งงานตอนอายุ 36 ปี เลิกทำธุรกิจตอนอายุ 42 ปี ค่อยพลิกชีวิตกลับไปอย่างเดิม" วิศิษฐ์ ให้สัมภาษณ์ ในโอกาสหนึ่งที่เชียงราย

 "ภรรยาผมเคยทำงานที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น จบธรรมศาสตร์เป็นนักกิจกรรม" วิศิษฐ์ เอ่ยถึงภรรยาของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว และการเสียชีวิตนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ต้องมีเหตุผลในการประนีประนอมเพื่อทำธุรกิจต่อไป


 "สิ่งสุดท้ายประการเดียวที่เธอขอกับผมก่อนจากลา ก็คือ ขอให้เลี้ยงและอบรมลูกชายเพียงคนเดียวที่มีอยู่ให้เป็นคนไม่เห็นแก่ตัว เธอกล่าวว่าทรัพย์สมบัติอื่นใดในโลก หาสำคัญไปกว่าการทำการกิจข้อนี้ไม่" คำอุทิศผู้แปลในหนังสือ ดวงตะวันดวงใจฉัน

8 ปี ในเชียงราย วิศิษฐ์ ช่วยก่อตั้งโรงเรียนแนวมองเตสเซอรี่ ชื่อ ปิติศึกษา ตอนนี้เปิดสอนเป็นปีที่ 6 - 7 แล้ว ช่วยก่อตั้งมูลนิธิสังคมวิวัฒน์ ล้อกันกับจิตวิวัฒน์ที่กรุงเทพฯ ให้คนหนุ่มทำหน้าที่ประธาน ส่วนคนรุ่นเขาทำหน้าที่รับใช้


"งานที่ทำทั้งหมดของสถาบันขวัญเมืองอยู่ในมูลนิธิสังคมวิวัฒน์ สร้างองค์กรขึ้นมารับใช้คน คนแก่รับใช้คนหนุ่ม ชอบใช้คำหนึ่งว่า ผู้นำคือผู้รับใช้ ทำงานอย่างมีความสุข ทำงานโดยเชื่อในสติปัญญาร่วม ไม่เชื่อใน Private Ownership ไม่เชื่อในลิขสิทธิ์ ต่อไปเขียนหนังสือใส่ชื่อมูลนิธิแทน ตัวตนมันจะหายไป จริงๆ แล้วที่คิดมีสติปัญญาอยู่ทุกวันนี้ ผมยืนอยู่บนบ่ายักษ์ใหญ่หลายคน ส.ศิวรักษ์, ท่าน ติช นัท ฮันห์, เจ้าคุณปยุต (พระพรหมคุณาภรณ์ : ป.อ.ปยุตฺโต) ผมมีกัลยาณมิตรดีๆ หลายคน แล้วเวลาเราคุยกัน ความคิดดีๆ เยอะเลย แล้วมันเป็นของใคร มันเป็นสังคมนิยมแล้วนะ มันเป็น Collective"


เมื่อขอให้ วิศิษฐ์ เล่าถึงที่มาที่ไปของความสนใจทั้งเรื่องธรรมะและการเรียนรู้เพื่อแสวงหาสิ่งใหม่ๆ เขาเล่าย้อนถึงวัยเด็ก

"ผมเป็นเด็กกำพร้า ความเป็นเด็กกำพร้าทำให้ช่างคิด แสวงหาอะไรใหม่ๆ เริ่มต้นจากการแสวงหาความอบอุ่น ชอบอ่านหนังสือ คิดใคร่ครวญ เป็นเด็กช่างคิด เด็กกำพร้าจะมีอยู่อย่างคือ ต้องฝึกอ่านใจคน ต้องไปอาศัยเขาอยู่ ครอบครัวผมดี น้าๆ หลายคนรักผมเหมือนลูก เลี้ยงเหมือนลูก แต่เราก็รู้ว่าเราไม่ใช่ลูก เราก็แสวงหา"

อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ การเติบโตมาจากสังคมพุทธจากยาย เขาเล่าว่า ยายไปวัด วัดธรรมดาๆ ไม่ใช่วัดปฏิบัติ เป็นวัดบ้านนอกทั่วไป แต่มีความสุขสงบประหลาด วัดสมัยเด็กๆ ของเขาไม่ได้วุ่นวายอย่างสมัยนี้ สมัยก่อน ดูธรรมดา สงบเรียบง่าย เวลาเข้าวัดจะมีความสุข

นอกจากนี้ก็เก็บเกี่ยวด้วยการอ่านหนังสือดีๆ หนังสือของท่านพุทธทาส เขาอ่านตั้งแต่เรียนอยู่ม.ต้น และทำกิจกรรมตั้งแต่เรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่ไปช่วยทำค่ายยุวชนสยามของโรงเรียนสวนกุหลาบ พอทำกิจกรรมก็เบื่อเรียนหนังสือ เข้าเรียนมหาวิทยาลัยมหิดล เขาแทบไม่ได้เรียนและไม่ได้สอบ จึงตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยและออกจากบ้านมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเอง ด้วยการเขียนหนังสือ แปลหนังสือ ขณะนั้นอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ทำสำนักพิมพ์เคล็ดไทย เขาก็เข้าไปเขียนบ้าง แปลบ้าง และร่วมทำกิจกรรมในองค์กรพัฒนาต่างๆ

และเขาก็ได้พบกับ ติช นัท ฮันห์ ในปี 2518


"ก่อนปี 2519 เวียดนามแตก ตอนนั้นผมเจอท่านที่วัดผาลาด มีการจัดประชุมผู้นำศาสนา เขารบกัน เราก็มาหาแนวทางสันติวิธี อาจารย์ (ส.ศิวรักษ์) ให้ผมไปอยู่ดูแลท่าน กุฏิก็เล็กนิดเดียว ดูแลท่านก็เหมือนท่านดูแลเรา ตอนนั้นผมอายุ 22 ปี ท่าน ติช นัท ฮันห์ อายุประมาณ 50 ปี"


เขา เล่าว่า เวลาที่ได้เจอคนเจริญสติภาวนา มีความสงบ มีคุณสมบัติบางอย่างอยู่ในตัว เป็นการเรียนธรรมะโดยไม่ต้องพูดกัน


"อยู่เฉยๆ ก็ซึมเข้ามา ท่านก็เมตตาเรา ตอนนั้นก็ตื่น 3 เดือน เห็นอะไรก็งดงามไปหมด เขียนหนังสือก็ดี เขียนกวีก็ดี ชีวิตก็ลงตัว ความอดรนทนไม่ได้มันหมดไป แฮปปี้มาก เห็นอะไรก็สวยงามไปหมด แล้วเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ถ้ามีอยู่ในตัว ก็จะงอกงามในตัวเรา ท่านก็เขียนหนังสือหลายเล่ม พวกเราแปลกันหลายเล่ม ที่เห็นแปลมีอยู่เกือบ 20 เล่ม ในเมืองไทยขายดี ผมแปลเล่มหนึ่ง ดวงตะวันดวงใจฉัน" วิศิษฐ์ เล่าถึงส่วนหนึ่งในชีวิต


อีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับธรรมะคือ เรื่องการสืบต่อ โดยเฉพาะปณิธานของท่านพุทธทาสและเจ้าคุณปยุตฯ ทั้งสองท่านเห็นว่า ธรรมะต้องอยู่กับการดำรงชีวิตตามปกติธรรมดา ไม่ได้มีไว้บนหิ้งเท่านั้น การอภิปรายในครั้งหนึ่งของท่านพุทธทาส และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อประมาณปี 2512 -2513 ที่หอประชุมคุรุสภา

ครั้งนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พูดถึงธรรมะระดับโลกุตรว่า นำมาปฏิบัติไม่ได้ ชาวโลกมันมีความโลภ มันมีแรงขับท่านคิดในแง่เศรษฐกิจ ส่วนท่านพุทธทาสบอกว่า ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน นิพพานต้องที่นี่ เดี๋ยวนี้ ทำงานก็ต้องมีความสุข ต้องมีสติปัญญา

ข้อคิดนั้นผนวกรวมกับการอ่านอื่นๆ ของ วิศิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด ไม่ว่าจะอหิงสาของคานธีหรือเศรษฐศาสตร์แบบชูมาร์คเกอร์ นั่นก็มีธรรมะ และต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในวิทยาศาสตร์หรือในการบริหารจัดการ


"ธรรมะไม่ได้อยู่บนหิ้ง ต้องอยู่ในเลือดเนื้อ ลมหายใจ อยู่ในสิ่งละอันพันละน้อย ในการดำรงชีวิตอยู่ของเราทั้งหมด พวกนี้ไปทำงานกับจิตไร้สำนึก ขยายความจิตไร้สำนึก อย่างมานั่งร้านสวยๆ งามๆ จิตไร้สำนึกได้รับการดูแล จิตไร้สำนึกของเราสัมผัสสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา นั่งอยู่ในสถานที่แตกต่างกัน การคุยจะไม่เหมือนกัน ถามว่าเกี่ยวกับจิตสำนึกหรือไม่ ไม่นะมันเกี่ยวกับจิตไร้สำนึก"


วิศิษฐ์ พูดในตอนท้ายของการสนทนาครั้งนั้นว่า


งานของผมคือ เขี่ยผงออกจากลูกตาคน "คนมีคุณภาพ แต่ความเป็นไปของสังคม ความเชื่อของยุคสมัย มันไปขวางกั้นธรรมชาติของมนุษย์ วิวัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์ งานผมคือเขี่ยผงออกจากลูกตา เขาต้องโตเอง เห็นเอง เราช่วยนิดหน่อย กิจกรรมผมโดยทั่วไปจะพูดน้อย แต่จะให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง พอคนค้นพบตัวเอง คำพูดจะไพเราะและมีพลัง"